TH | EN
03
OCT
Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน

คุยกับร้านสูทสัญชาติไทย เจ้าเดียวที่ได้เรียนศาสตร์การตัดเย็บชั้นสูงจากกลุ่มช่างฝีมือของห้องเสื้อชั้นนำในอิตาลีและชุดความคิดเรื่องใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้สูทตัวสวยกลายเป็นเสื้อตัวเก่ง

สารภาพตามตรงว่านอกจากลายผ้าและสีสันที่เข้ากันดีกับผู้สวมใส่ เราไม่อาจแยกรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าสวยงามตรงหน้าได้ในเพียงพริบตาเดียว

ทรงที่รับกันพอดีของไหล่  อก เอว ช่วงแขน ความยาวของชายเสื้อ กระเป๋าข้างลำตัว กระดุม และอื่นๆ บ่งบอกว่าผู้สวมใส่มีรสนิยม ความชอบ ความสนใจ และไลฟ์สไตล์แบบไหน รายละเอียดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยช่วยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสริมบุคลิกและความมั่นใจ

เราจึงได้แต่คิดและก็สงสัยว่า การทำงานเบื้องหลังของคนที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดต่างๆ การออกแบบและตัดเย็บที่คิดถึงการกลบข้อด้อยและส่งเสริมข้อดีของผู้สวมใส่นั้น จะเป็นอย่างไร

 

 

ในยุคที่ร้านสูทตัดเฉพาะเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวของตัวเองกันมากขึ้น เราสนใจวิธีคิดของ เจย์ – จิรัฏฐ์ วีรวัชร์ภูวกุล เจ้าของแบรนด์และไดเรกเตอร์ผู้ดูแลทุกส่วนของ Azzurro (อัซซูโร่) ร้านตัดสูทคุณภาพสูง เขามารับช่วงต่อกิจการร้านสูทของครอบครัว ด้วยการสืบทอดศาสตร์การตัดเย็บจากอิตาลี ซึ่งมีหน้าร้านตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าอโศกและสุขุมวิทซอย 18

มาฟังแนวคิดและความตั้งใจที่จะรักษาคุณค่างานฝีมือเก่าแก่ ด้วยการสร้างสรรค์สูทตัวเก่งที่ตัดเย็บเฉพาะบุคคล ในแบบฉบับของ Azzurro แล้วคิดภาพตามไปด้วยว่าหากต้องมีสูทตัวเก่งสักตัว จะอยากให้ออกมาเป็นสูทที่มีหน้าตาแบบไหน

 

สุภาพบุรุษในชุดสูท

Azzurro (อัซซูโร่) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า สีฟ้า

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ชายแบบ Azzurro จึงมักทำให้คนรอบตัวรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ภายใต้ท่าทีสุขุมของ Azzurro มีความลับที่ทำให้ลูกค้านักธุรกิจและบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลายประเทศในโลกแวะเวียนมาไม่ ขาดสาย

ต้องขออภัยล่วงหน้าที่เนื้อหาบางส่วนอาจจะเป็นความลับทางการค้า เราจึงเปิดเผยได้แค่บางส่วน

ความลับสำคัญของสูทจาก Azzurro คือ ผ้าหางม้าทอ ชนิดต่างๆ ที่ช่างฝีมือเลือกใช้ประกอบกันอยู่ด้านในของเสื้อสูท ระหว่างผ้าชั้นนอกและผ้าซับใน ตรงบริเวณช่วงหน้าอกและปกเสื้อ และเมื่อรวมกับความชำนาญพิเศษของช่างฝีมือในการเย็บขึ้นรูป หรือการใช้มือรองไว้ให้เป็นทรงขณะที่เย็บ ทำให้ส่วนอกของเสื้อสูทดูมีมิติ ซึ่งเป็นวิธีการทำสูทแบบดั้งเดิมของอิตาลี

ขณะที่หัวใจสำคัญของปกเสื้อ คือ การทำให้เสื้อมีชีวิต หรือที่ภาษาช่างเย็บจะเรียกว่า การทำให้ปกไม่ตาย หรือปกเสื้อดูสปริงตัว ทั้งหมดนี้จะเสริมให้บริเวณช่วงลำตัวและหลังโค้งรับพอดีกับรูปร่างผู้สวมใส่ ราวกับเป็น second skin หรือผิวหนังอีกชั้น ที่ไม่เล็กหรือโคร่งเกินไป และให้น้ำหนักที่เบากว่า

ในกระบวนการตัดเย็บเฉพาะด้วยมือ ประกอบด้วย วัตถุดิบคุณภาพสูงและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือเป็นสำคัญ ช่างฝีมือ 1 คนจะรับผิดชอบทำตัวเสื้อสูท 1 ตัว ขณะที่ส่วนแขนจะแยกทำโดยช่างแขนโดยเฉพาะ เพราะอาศัยความชำนาญที่ต่างกัน

ฟังขั้นตอนที่ซับซ้อนนี้แล้ว เราก็พอจะนึกภาพตามออกว่า การตัดเย็บลักษณะนี้หายากขึ้นทุกวันๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส หรือแม้แต่อิตาลี คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ดีไซน์เนอร์และแฟชั่นไอคอนคนดังของยุคยังเคยกล่าวว่า “ช่างฝีมือ ถือเป็นสมบัติของชาติ”

 

 

เรียบร้อยโรงเรียนอิตาลี

เดิมที วิธีการทำสูทแบบดั้งเดิมของอิตาลีเป็นเทคนิคชั้นสูงที่ถ่ายทอดกันเฉพาะกลุ่มช่างฝีมือของห้องเสื้อชั้นนำในอิตาลีเท่านั้น

เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนช่างฝีมือในอนาคต ที่อิตาลีจึงก่อตั้ง L’Accademai Nazionale dei Sartori โรงเรียนสอนตัดสูทของสมาคมช่างตัดเสื้ออิตาลีขึ้นที่โรม เพื่อสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ และด้วยสายสัมพันธ์อันดีระหว่างร้านสูทของครอบครัวกับร้านตัดเย็บสูทเก่าแก่ในอิตาลีมากมาย ครอบครัวจึงส่งน้องสาวของเจย์ ซึ่งขณะนั้นกำลังเรียนแฟชั่นดีไซน์ที่ Istituto Marangoni ในมิลาน จึงเป็นคนไทยคนแรก และเป็นร้านสูทจากไทยเจ้าเดียวที่มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการทำสูทแบบอิตาเลียนอย่างจริงจัง ก่อนที่เจย์จะตามไปเรียนหลักสูตรสั้นๆ ในเวลาต่อมา

“จริงๆ คนอิตาลีเขาก็ไม่อยากให้เราเรียนเพราะเป็นความลับของชาติ เราจึงมีสัญญาใจว่าจะไม่เผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้แก่คนนอกร้าน” เจย์เล่า

นอกจากเทคนิคการตัดเย็บขั้นสูงแล้ว สิ่งที่เจย์และน้องสาวเรียนรู้จากอิตาลีคือ ทัศนคติเรื่องความรักต่องานที่ทำ

“สมมติเรากำลังลองตัวให้ลูกค้า ลูกค้าอาจจะมองไม่เห็นว่ามีตรงไหนที่ไม่สวย แต่ช่างอิตาเลียนจะมองเห็นและแก้ไขมันทันทีโดยที่ไม่ต้องร้องขอ เพราะต้องการให้เสื้อตัวนี้สวยแบบ 100% เขามองสิ่งที่ทำเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมที่ตั้งใจทำมันอย่างดีในทุกครั้ง” คำบอกเล่าของเจย์ ทำให้เราหันมาคิดถึงงานที่ทำอยู่

 

 

Tailor-made Suits

ทุกวันนี้ การตัดสูทไม่ใช่เรื่องของคนมีอายุเท่านั้น แม้แต่คนอิตาลีเองพอเริ่มทำงาน มีเงินเก็บก็จะเริ่มอยากมีสูทเป็นของตัวเองสักชุด เพราะใส่แล้วมั่นใจกว่า ขณะที่ลูกค้าคนไทย จะเลือกตัดสูทจากโอกาสและงานสำคัญ

นอกจากความไว้วางใจในกรรมวิธีการตัดเย็บ คุณภาพของผ้าที่ทางร้านใช้ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่คนรักสูทให้การยอมรับ โดยเฉพาะแบรนด์จากอิตาลีและอังกฤษ เช่น Loro Piana ของอิตาลี และ Holland & Sherry ของอังกฤษ ซึ่งข้อดีของผ้าจากอิตาลีคือ ตัดออกมาแล้วเข้ารูปสวยงาม ขณะที่ผ้าจากอังกฤษจะทนทานกว่า เพราะขั้นตอนการผลิตผ้านั้นคำนึงถึงการทนต่อสภาพอากาศเป็นสำคัญ

“ส่วนตัวแล้วผมชอบผ้าของ Loro Piana ที่สุด และกว่าจะได้ผ้าแบรนด์นี้มาที่ร้าน ทางอิตาลีต้องเข้ามาตรวจว่าช่างฝีมือของเราเย็บผ้าเขาได้มั้ย เขาถึงส่งตัวอย่างผ้ามาให้ร้านเรา” เจย์เล่าพร้อมเปิดตัวอย่างผ้าคอลเลกชันใหม่ล่าสุด ที่ทำให้ตาของเราลุกวาวตาม

 

 

“นอกจากเหตุผลเรื่องโอกาสในการใช้งาน ทำไมเราควรจะต้องมีสูทตัวเก่งที่ตัดเฉพาะเราสักตัว” เราถาม

“สูทคุณภาพดีหนึ่งตัว สามารถใช้งานได้ 5-10 ปี แม้มีราคาสูง แต่เมื่อหารราคาต่อครั้งที่ใช้ ผมว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับราคาเสื้อผ้าสำเร็จ เพราะคุณจะเลือกหยิบมาใช้บ่อย ขณะที่เสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วไม่ชอบใส่ ต้องเก็บไว้ในตู้ ต่อให้ราคาถูก ผมก็มองเป็นเสื้อราคาแพงอยู่ดี ผมมองเรื่องนี้เป็นความคุ้มค่ามากกว่า

“หน้าที่เราคือทำเสื้อตัวเก่งให้ลูกค้า ไม่ใช่แค่สวยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเสื้อที่เราจะหยิบมาใส่ทุกครั้ง บางทีเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจกรรมวิธีการตัดเย็บต่างๆอย่างละเอียดว่าเป็นอย่างไร แต่เขาใส่แล้วสวยและมั่นใจเท่านั้นพอ” เจย์ เล่าความตั้งใจของแบรนด์ Azzurro

กระบวนการของ Azzurro ในการออกแบบเสื้อสูทตัวเก่งนั้นแสนเรียบง่าย เจย์ผู้รับหน้าที่หลักในการแปลงสารสำคัญ ผ่านบทสทนาอย่างเป็นธรรมชาติระหว่างวัดตัว ลองตัว ชวนพูดคุยเรื่องทั่วไป จนทำให้เจย์ค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวตนและไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคลนั้น ทั้งจากแนวเพลงที่ฟัง อาหารที่ชอบ การเดินทางครั้งล่าสุด งานอดิเรก ครอบครัว ไปจนถึงกลุ่มเพื่อนที่สนิท

“นอกจากการพูดคุยจะทำให้เรารู้จักและเข้าใจตัวตนของเขาแล้ว ก็ยังทำให้เขาเริ่มรู้สึกถึงสิ่งที่ต้องการ ตอนแรกเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราก็จะค่อยๆ เสนอแนวทางที่เหมาะสม เช่น ผู้ใหญ่มักจะเข้าใจว่ากางเกงตัวเล็กทำให้รู้สึกอึดอัด เราก็ค่อยๆ อธิบายว่า ต่อให้แบบทรงจะดูแนบติดตัวแค่ไหน แต่ผ้าที่ดีจะช่วยทำให้รู้สึกสบาย หัวใจสำคัญของ Azzurro คือการทำเสื้อตัวเก่งให้เขา เสื้อแบบไหนที่จะแสดงตัวตนของเขาออกมา ไม่ใช่เสื้อทั่วไป แต่เป็นเสื้อของเขาจริงๆ” เจย์เล่า

 

 

Story-tailor (made)

“การตัดสูท สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าสูทที่ดีเป็นยังไง เขาก็ไม่รู้ว่าเสื้อที่ได้มาดีหรือไม่ดี มันเหมือนการกินอาหารถ้ายังไม่เจอจานที่อร่อยจริงๆ เขาก็จะคิดว่าจานตรงหน้าอร่อยแล้ว แต่ถ้าได้ลองอาหารที่อร่อยกว่านั้นจริงๆ เขาก็จะรู้” เจย์เล่าเปรียบเทียบเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจและหลงใหลการตัดเสื้อสูทที่ทำขึ้นเฉพาะบุคคล

 

 

สิ่งที่น่าสนใจของตลาดและการทำแบรนด์ร้านสูท Azzurro ก็คือ การแนะนำต่อๆ กันของลูกค้าเดิมเป็นสำคัญ ซึ่งเจย์เล่าว่าเขาเคยลองทำการตลาดด้วยการโฆษณาใน โซเชียลมีเดียแล้ว จึงได้รู้ว่าเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับแบรนด์เท่าไหร่ เพราะความคาดหวังที่มีของกลุ่มคนที่สื่อสารแตกต่างกัน เช่น งบประมาณของสูท หรือความเข้าใจในคุณค่าของการตัดเย็บอย่างมีคุณภาพ

“ธรรมชาติของผู้ชายซึ่งเชื่อในสิ่งที่เพื่อนแนะนำต่อๆ กันมา เป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจนี้หรือเปล่า” เราถาม

แม้การแนะนำบอกต่อระหว่างเพื่อนจะดูเป็นข้อดี เจย์บอกว่า จริงๆ แล้วมีข้อเสียที่คนอาจจะคิดไม่ถึง นั่นคือ ถ้าหากแบรนด์นั้นๆ ทำงานพลาด จนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ก็จะเป็นที่พูดถึงต่อๆ กันเร็วและไปไกลมาก

“ในกลุ่มเพื่อนกัน สมมติถ้ามีคนหนึ่งที่ Geek เรื่องสูทมาก เป็นกูรูเรื่องแต่งตัว ถ้าอยากตัดสูทต้องถามคนนี้ ซึ่งถ้าเขาเจอประสบการณ์ไม่ดีก็จะไม่แนะนำให้กัน” เจย์เล่า

นอกจากการรับงานสั่งตัดที่หน้าร้านแล้ว Azzurro ยังมีบริการ Trunk Show หรือนัดหมายพิเศษเพื่อวัดตัว เลือกตัวอย่างผ้าเตรียมตัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีแผนจะเดินทางมาประเทศไทย เป็นการลดขั้นตอนให้ลูกค้าสามารถลองเสื้อทันทีที่เมื่อถึงกำหนดเดินทางมากรุงเทพ

“มีลูกค้าจากต่างประเทศ ขอให้ผมบินไปวัดตัวเขาและเพื่อนๆ 50 คน นั่นแปลว่า ถ้าทุกคนสั่งเสื้อคนละ 2 ตัว เราจะต้องทำเสื้อร้อยตัวในเวลา 3 เดือน ซึ่งเราจำเป็นต้องปฏิเสธเพราะเราอยากทำงานทุกชิ้นอย่างดีที่สุดในจำนวนที่เรารับได้ เราคิดว่าสิ่งที่ท้าทาย Azzurro คือการเพิ่มช่างฝีมือมากกว่าที่จะสนใจยอดขาย เมื่อเราทำงานอย่างตั้งใจจริง การขายก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะมีคนที่ต้องการสูทที่ตัดเฉพาะ เพียงแต่เราไม่สามารถรับงานในปริมาณที่มากกว่าจำนวนที่เราทำได้” เจย์อธิบายเหตุผลของการทำธุรกิจอย่างพอประมาณ

 

Azzurro is all about details

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Azzurro เป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในไทยและต่างประเทศ จนกลับมาใช้บริการอยู่เสมอ คือ การไม่ประณีประนอมต่อคุณภาพ ซึ่งมาจาก ทัศนคติหรือชุดความคิดเดียวกันของทีมงานทุกคน ที่จะไม่ยอมปล่อยผ่านให้งานที่ไม่ได้มาตรฐานไปถึงมือลูกค้า โดยมีที่มาจากความรู้สึก รักในงานที่ทำ ภูมิใจเมื่อลูกค้าเลือกใส่ชุดของเราในงานสำคัญ รวมถึงการยอมเปิดรับอะไรใหม่ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

“ที่นี่ เราจะเชิญช่างจากอิตาลีเข้ามาสอนที่ร้านอยู่เสมอ จริงๆ ไม่เชิงสอนแต่คือการตรวจทานสิ่งที่เคยสอนไป นอกจากช่างฝีมือเก่าแก่ของเราจะได้โอกาสเรียนรู้แล้ว หากช่างใหม่ที่ร้านอยากมีโอกาสเข้าเรียนก็ต้องพยายามพัฒนาและพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถเพียงพอ” เจย์เล่าบรรยากาศการเรียนรู้ภายใน ก่อนจะเสริมว่าที่ Azzurro มีช่างฝีมืออายุต่ำสุด 55 ปี สูงสุด 70 ปี ขณะที่ช่างฝึกหัดอายุน้อยที่สุดมีอายุ 35 ปี และทั้งๆ ที่อายุมากแล้ว แต่ด้วยความชำนาญทำให้สามารถร้อยด้ายเข้ารูเข็มเล็กๆ ภายในครั้งเดียว

“เมื่อทำในสิ่งที่ให้ความสุขแก่คนอื่น คุณจะได้รับมากกว่าธุรกิจ คุณจะได้เพื่อน คุณจะได้พลังกลับมาเพื่อดำเนินชีวิตของคุณต่อ” เจย์เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำแบรนด์ Azzurro

 

 

“ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจว่า เขาสามารถตัดสูทที่ไหนก็ได้ในโลก ทำไมถึงเลือก Azzurro และแนะนำเพื่อนๆ ให้มาตัดที่นี่อยู่เสมอ เขาตอบผมว่า การตัดสูทที่ร้านอื่น เขาได้เสื้อสูท แต่การมาตัดที่นี่ เขาเหมือนได้มาเจอเพื่อน ที่สำคัญ เพราะว่าเราไม่ประณีประนอมเรื่องคุณภาพ เขาจึงกล้าแนะนำเพื่อนมา เพราะเขารู้ว่าเขาไม่เสียแน่นอน” เจย์กล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจจากความรัก

“ผมว่าแพชชั่นมันมีวันหมดอายุนะ ถ้าคุณไม่ตั้งใจต่อสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง และการมีแพชชั่นอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะถึงวันหนึ่งที่คุณพบว่าไม่มีใครชอบงานคุณเลยจริงๆ มันจะอยู่ไม่ได้ หัวใจของการทำแบรนด์ คือการปักเสาเข็มที่แข็งแรงและลึกเพียงพอ คุณต้องมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำจริงๆ อยากเป็นดีไซน์เนอร์อย่างน้อยๆ ก็ต้องรู้ว่าจะตัดเย็บเสื้อผ้าหรือทำแพทเทิร์นอย่างไร ไม่ใช่ออกแบบแล้วส่งให้ช่างฝีมือเย็บต่อ คุณต้องลงไปทำมันเอง”

“ที่ Azzurro มาได้ถึงวันนี้ เพราะกิริยาตอบรับจากลูกค้าในทุกครั้งที่เขามารับเสื้อ ซึ่งช่วยเติมพลังงานให้เรา แม้จะเป็นประกายเล็กๆ แต่เมื่อเติมเข้าทุกๆ วัน ก็ทำให้ร้านเราดำเนินอยู่ได้ ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยนะ อยากตื่นมาทำงานทุกวัน”

 

 

ความหมายที่อยู่ในรายละเอียด

จากวิธีคิดของช่างฝีมือชาวอิตาเลียน อย่างการสร้างสัดส่วนที่เหมาะสมกับผู้สวมใส่ การเข้าใจรูปร่างของคนที่อาจจะไม่ได้เหมือนกัน การออกแบบและตัดเย็บที่กลบข้อด้อยและส่งเสริมข้อดีของเขา

ไม่เพียงส่งเสริมบุคลิกภาพ สูทที่ดียังสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ออกมา ผ่านรายละเอียดที่ออกแบบพิเศษเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความเฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน เป็นความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นทั้งเจ้าของเสื้อตัวเก่งและช่างฝีมือผู้อยู่เบื้องหลัง

 

 

ในยุคที่คนให้คุณค่ากับนิยามความเป็นตัวตน มากกว่าแค่ความสวยงามของเปลือกนอก โจทย์สำคัญของการใช้ชีวิต คือการมองหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวตนจริง ๆของเรา ซึ่งไม่ต่างจากสูทตัวเก่งคุณภาพดีที่มองด้วยตาเราอาจจะไม่เห็นคุณค่าในเรื่องราวและกรรมวิธีกว่าจะได้มา แต่เมื่อดูให้ลึก คุณจะพบรายละเอียดที่มีความหมายต่อชีวิตซ่อนอยู่

 

 

The Rule : Azzurro

1 ตั้งเป้าหมายชัดเจน ว่าเราอยากให้สูทจาก Azzurro ทุกตัวเป็นสูทตัวเก่ง เราจะไม่ทำเสื้อที่ลูกค้ารับกลับไปบ้านแล้วแขวนเก็บไว้ในตู้

2 เข้าใจลูกค้าและดึงเอกลักษณ์ออกมาให้มากที่สุด

3 รักษาความรู้สึกกระตือรือร้นให้เหมือนทำงานวันแรกอยู่เสมอ

 

 

www.azzurrotailor.com
Instagram | azzurrotailor
Facebook | azzurrotailor